พ.ร.ก.ต่างด้าวพ่นพิษพม่าหนีกลับวันละ2พัน

นายจ้าง หวั่นแรงงานต่างด้าว หนีกลับถิ่นหลังพ.ร.ก. รัฐประกาศใช้ พ.ร.ก.ต...

บทความ
พ.ร.ก.ต่างด้าวพ่นพิษพม่าหนีกลับวันละ2พัน
โพส 2017-06-23

รายละเอียด

นายจ้าง หวั่นแรงงานต่างด้าว หนีกลับถิ่นหลังพ.ร.ก. รัฐประกาศใช้ พ.ร.ก.ต่างด้าว 60พม่าเดินทางกลับบ้านวันละ 2,000 คน ขณะที่กัมพูชากลับวันละ15 คันรถ

 

    พลันที่รัฐบาลได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ “พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2560 เป็นต้นไป เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ. การทำงนของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก. การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 ปรับปรุงกฎหมายให้บทบัญญัติครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวทั้งระบบ โดยเน้นการให้ความคุ้มครอง อำนวยความสะดวกให้กับทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว รวมถึงมีการเพิ่มโทษนายจ้างที่กระทำผิดกฎหมาย พร้อมดึงประชาคนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน

    ประเด็นหลักๆ ที่ทำให้เหล่านายจ้าง หวั่นวิตก เกิดภาวะแรงงานต่างด้าวหนีกลับถิ่น เหตุด้วยนายจ้างส่งกลับ และขอกลับเอง คือ การเพิ่มโทษให้มีอัตราที่สูงขึ้น โดยเฉพาะโทษปรับ “นายจ้าง” จากเดิมหากกระทำผิดเกี่ยวกับการจ้างงานแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะทำผิดต่อแรงงานต่างด้าวกี่คนจะรับรวมเป็นกรณีเดียว แต่ พ.ร.ก. ฉบับนี้ จะปรับนายจ้างแยกตามจำนวนแรงงานต่างด้าวรายคน ทำให้โทษสูงขึ้น

      เช่น นายจ้างที่จ้างต่างด้าวทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000 - 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือนายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท ต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น

    นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่าพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาแรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะเป็นพม่า หรือกัมพูชา เริ่มทยอยกลับบ้านของตนเองมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. มีแรงงานพม่าเดินทางกลับบ้านวันละ 2,000 คน ขณะที่กัมพูชา จากเดิมมาทำงานในไทย ประมาณ 4 คันรถ ก็กลายเป็นจำนวนลดน้อยลง แต่เดินทางกลับไปกัมพูชาประมาณ 15 คันรถ หากเกิดภาวะการไหลออกของแรงงานต่างด้าวมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิต อุตสาหกรรม และการขาดแคลนแรงงานระดับล่างของประเทศอย่างแน่นอน

   “สิ่งที่แรงงานต่างด้าว และนายจ้างเห็นจากพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว คือ การปรับโทษให้รุนแรงมากขึ้น ตามความเชื่อของรัฐที่มองว่าหากมีบทลงโทษรุนแรง จะทำให้นายจ้างเกรงกลัว แต่ในความเป็นจริงยิ่งส่งผลให้ช่องทางลัด การกระทำที่ไม่ถูกต้องมากขึ้น เช่น การแอบเอาแรงงานต่างด้าวเข้ามา การจ่ายส่วย เป็นต้น เพราะเมื่อต้องจ่ายค่าปรับแพงมากขึ้น การจ้างหรือการทำให้มันไม่ถูกต้องเป็นทางออกที่ดี ดังนั้น ตอนนี้เกิดความหวั่นวิตกของนายจ้างแรงงาน และแรงงานต่างด้าวจากการประคอมของภาครัฐที่พูดแต่เรื่องบทลงโทษ อยากให้ทบทวนการออกกฎหมายดังกล่าว การมีบทลงโทษรุนแรงเป็นทางช่วยแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวจริงหรือไม่”

   ผู้ประสานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า อยากทราบว่า “มีความจำเป็นที่ต้องออกพ.ร.ก. ซึ่งถือเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ หรือควรทบทวน ออกเป็นบทเฉพาะกาล หรือกลับไปทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน ถามผู้ที่ได้รับผลกระทบ นายจ้าง แรงงานต่างด้าว… แล้วค่อยออกกฎหมายหรือมองหาแนวทางที่เหมาะสมว่าควรจะทำอย่างไร”

    นายอดิศร กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้อยากให้มาดูในเรื่องของการจ้างงานที่ถูกกฎหมาย การลงนามความร่วมมือระหว่างไทยกับประเทศต่างๆว่าการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาในไทยนั้น สามารถดำเนินการให้ถูกต้องได้อย่างไร น่าจะดีกว่ามีบทลงโทษที่รุนแรงจนเกิดกระแสต่อต้าน เกิดผลกระทบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น แรงงานต่างด้าวเริ่มออกจากประเทศไทย มีผลต่อฐานการผลิตทั่วไป โรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมการเกษตร การประมง ก่อสร้าง และงานรับใช้ในบ้าน เป็นต้น

   “พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดี คือ เป็นการวางแผนจัดการระยะยาว มีการคุ้มครองแรงงานมากขึ้น แต่ตอนนี้ที่ทุกคนล้วนมองแต่ข้อเสีย ฉะนั้น หลังจากนี้ ในกลุ่มของผมจะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้ 1. การออกพ.ร.ก. ฉบับกล่าว มีความจำเป็นที่ต้องประกาศเป็น พ.ร.ก.หรือไม่ 2.บทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น อยากให้มีการรับฟังความคิดเห็นรอบด้านไม่ใช่ความเห็นจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว 3. เสนอให้มีการยุติกระบวนการในการจับกุมแรงงานต่างด้าวชั่วคราว เพื่อให้นายจ้างและแรงงานได้เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ให้รับความคิดเห็นชัดเจน ไม่กระทบต่อ การจ้างแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ และ4. มีมาตรการในการคุ้มครอง เพราะพ.ร.ก.ดังกล่าว ส่งผลให้นายจ้างหลายคน ต้องมีการเลิกจ้างแรงงาน ทำให้ต้องมีแนวทางในการจัดการค่าจ้างคงค้างต่างๆ คาดว่าจะยื่นจดหมายเปิดผนึกได้เร็วๆ นี้”  นายอดิศร กล่าว